โทรทัศน์ไทยในกระแสทุนนิยม
สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ไทยทีวีโกลบอลเน็ตเวิร์ก โดยได้แพร่ภาพสัญญาณโทรทัศน์ เพื่อคนไทยที่อาศัยอยู่ทั่วโลก 170 ประเทศ และต่างชาติที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทย ก่อนมีพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 จึงเป็นโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งเดียวที่ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิงออกไปสู่สายตาของผู้ชมทั่วโลกโดย ออกอากาศ 24 ชั่วโมงต่อวัน ส่งสัญญาณ รายการผ่านดาวเทียมถึง 5 ดวง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 177 ประเทศทั่วโลก

ทีวีเสรีล่มสลาย กลายพันธุ์สู่ทีวีสาธารณะ


เมื่อปี พ.ศ. 2547 คณะอนุญาโตตุลาการ ลดอัตราสัมปทานแก่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ให้ชำระเป็นเงิน 230 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับอนุญาตให้ไอทีวี แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ รายการสาระต่อรายการบันเทิง จากร้อยละ 70 ต่อ 30 เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 รวมถึงการปรับโครงสร้างภายใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนชื่อจากสยามอินโฟเทนเมนต์ เมื่อปี พ.ศ. 2541 เพื่อให้ไอทีวีสามารถอยู่รอดทางธุรกิจได้
ทว่าศาลปกครองสูงสุด กลับวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่ง ของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายค่าสัมปทาน สำหรับเช่าสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นเงิน 1,000 ล้านบาทต่อปีตามเดิม และต้องปรับเพิ่มสัดส่วน ให้รายการข่าวและสาระ เป็นร้อยละ 70 ต่อรายการบันเทิง ร้อยละ 30 ตามเดิมด้วย นอกจากนี้ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังต้องชำระค่าปรับ จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการ ที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานแต่ละปี คิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับแต่เริ่มปรับผังรายการ เป็นระยะเวลา 2 ปี
อย่างไรก็ตาม บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ก็ไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทาน และคำเสียหายดังกล่าว ให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ ในที่สุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 มติคณะรัฐมนตรีสั่งให้ยกเลิกสัญญาสัมปทาน จัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งสั่งให้ยุติการออกอากาศ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อเวลา 24.00 น. วันเดียวกัน โดยมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ เข้ากำกับดูแลการออกอากาศ โดยให้ชื่อใหม่ว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี
หลังจากพระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551แล้ว สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ทำหนังสือถึงกรมประชาสัมพันธ์ ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรมประชาสัมพันธ์จึงออกหนังสือคำสั่งที่ 25/2551 เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ยุติการออกอากาศ ตั้งแต่เวลา 00.08 น. ของวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 และเพื่อให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ดำเนินการออกอากาศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการโอนกิจการสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ไปไว้ให้เป็นหน่วยงานในสังกัดขององค์การฯ ตามความในมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ในวันเดียวกันที่มีการเปลี่ยนผ่านการออกอากาศของทางสถานีฯ ในชื่อสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส ซึ่งเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
