จุดกำเนิดโทรทัศน์ไทย
ประเทศไทยเริ่มต้นรู้จัก สิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Television” เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2492 สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของกรมประชาสัมพันธ์ เขียนบทความขึ้นบทหนึ่ง เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับ “วิทยุภาพ” อันเป็นเทคโนโลยีสื่อสารชนิดใหม่ของโลก ต่อมากรมประชาสัมพันธ์ ส่งข้าราชการของกรมฯ กลุ่มหนึ่ง ไปศึกษางานวิทยุโทรภาพที่สหราชอาณาจักร ในราวปี พ.ศ. 2493 เมื่อเล็งเห็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติ กรมประชาสัมพันธ์จึงนำเสนอ “โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ” ต่อจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนมาก แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง ต่องบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์ จึงจำเป็นต้องยุติโครงการดังกล่าวลง


ศาลาเฉลิมกรุง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีและประชาชนรับชม เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ซึ่งเครื่องส่งและเครื่องรับดังกล่าว มีน้ำหนักรวมกว่า 2,000 กิโลกรัม ซึ่งในระยะนี้เอง สื่อมวลชนซึ่งต้องการนำเสนอ ถึงสิ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Television” ดังกล่าวนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าควรเรียกเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร จึงกราบทูลถามไปยัง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ด้วยทรงเป็นศาสตราจารย์ทางอักษรศาสตร์ จึงทรงวิเคราะห์ศัพท์ดังกล่าว ก่อนจะทรงบัญญัติขึ้นเป็นคำว่า “วิทยุโทรทัศน์” ซึ่งต่อมาประชาชนทั่วไป นิยมเรียกอย่างสังเขปว่า “โทรทัศน์”
โดยระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ปีเดียวกัน มีรัฐมนตรีและข้าราชการของกรมประชาสัมพันธ์ กลุ่มหนึ่งรวม 7 คนซึ่งประกอบด้วย หลวงสารานุประพันธ์, หม่อมหลวงขาบ กุญชร, ประสงค์ หงสนันทน์, พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์, เล็ก สงวนชาติสรไกร, มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ และเลื่อน พงษ์โสภณ ดำเนินการระดมทุน ด้วยการเสนอขายหุ้น ต่อกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเงิน 11 ล้านบาท จึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีก 8 แห่ง เป็นเงิน 9 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อังกฤษ: Thai Television Co.,Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) ขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ของปีดังกล่าว เพื่อรองรับการดำเนินกิจการ ส่งโทรทัศน์ในประเทศไทย อนึ่ง ในปีเดียวกันนั้น กระทรวงกลาโหมออกข้อบังคับว่าด้วย การมอบหมายงานแก่เจ้าหน้าที่กองทัพบก โดยกำหนดให้กรมการทหารสื่อสาร (สส.) เพิ่มชื่อกองการกระจายเสียง เป็นกองการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อรองรับการจัดตั้ง แผนกกิจการวิทยุโทรทัศน์ เป็นหน่วยขึ้นตรงประจำกองดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อถึงปีถัดมา (พ.ศ. 2496) กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการ จัดซื้อเครื่องส่งโทรทัศน์ เข้ามาสาธิตการแพร่ภาพ เพื่อให้ประชาชนทดลองรับชม ในโอกาสที่สำคัญต่างๆ อาทิเช่น ถ่ายทอดการแข่งขันชกมวยสากล ระหว่างจำเริญ ทรงกิตรัตน์ พบกับจิมมี เปียต รองชนะเลิศระดับโลก ในรุ่นแบนตัมเวต, ถ่ายทอดบรรยากาศงานวชิราวุธานุสรณ์ งานฉลองรัฐธรรมนูญ งานฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ เป็นต้น และยังนำไปทดลองถ่ายทอดที่จังหวัดพิษณุโลก ภายในงานประจำปีของโรงพยาบาลพิษณุโลก ในปีถัดจากนั้น (พ.ศ. 2497) โดยทางกองทัพบก ก็มีการกำหนดอัตรากำลังพลเฉพาะกิจ ประจำแผนกโทรทัศน์ สังกัดกรมการทหารสื่อสาร จำนวน 52 นาย เพื่อปฏิบัติงานออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ผลิตและถ่ายทอดรายการโทรทัศน์ ขึ้นในปีเดียวกัน และเมื่อวันที่ 6 กันยายน พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บจก.ไทยโทรทัศน์คนแรก เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการสถานีโทรทัศน์ของ บจก.ไทยโทรทัศน์ ภายในบริเวณวังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน
